ต้นกำเนิดของแมวพันธ์นี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันถึงแหล่งที่มา โดยมีความเป็นไปได้ของแหล่งกำเนิด คือ มาจากอียิปต์หรือฮาวาย แต่กลับพบว่าแมวสฟิงซ์ตัวแรกของโลกที่ถูกนำมาเลี้ยงอยู่ในประเทศแคนาดา ปี 1966 ได้ระบุว่ามีการค้นพบแมวสฟิงซ์เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1830 แต่บางรายงานก็กลับระบุว่ามีการพบครั้งแรก ณ ประเทศเม็กซิโกเมื่อปี ค.ศ. 1900 หลังจากนั้นข่าวนี้ก็เงียบหายไป จนกระทั่งมีการพบอีกครั้งที่สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1950
แมวสฟิงซ์ เป็นลูกหลานของแมวไม่มีขน เกิดที่แคนาดา ราวๆ ค.ศ. 1960 – 1970 โดยกลุ่มคนรักแมวในประเทศแคนาดานำไปพัฒนาสายพันธุ์ สฟิงซ์ได้รับการรับรองสายพันธุ์จาก CFA แห่งสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยแล้ว แต่บางบันทึกก็กล่าวว่า แมวสฟิงซ์ เกิดจากการผ่าเหล่าของ แมวพันธุ์วิเชียรมาศ ด้วยเหตุนี้มันจึงมีความคล้ายคลึงกับแมวไทยมาก
ตำนาน
มีความเชื่อกันว่า แมวสฟิงซ์เป็นแมวของชาวอียิปต์ยุคโบราณ คุณจะพบแมวพันธ์นี้ได้จาก ภาพเขียน ภาพสลัก รูปปั้น ในศิลปะอียิปต์ยุคโบราณ ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่ยอดนิยมของชนชั้นสูงในสมัยนั้น
รูปร่างลักษณะ
หัวทรงลิ่ม หูเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายมน ดวงตาสีอำพัน ลำตัวยาว ผิวหนังย่นยู่ ส่วนใหญ่มีสีน้ำตาลขาว หรือดำขาว ขนเส้นเล็กสั้นมาก จนแทบมองไม่เห็นและเหี่ยวย่น หางยาวปลายเรียว อันเป็นลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนแมวพันธุ์อื่น
ลักษณะนิสัย
อยู่ร่วมกับมนุษย์ได้เป็นอย่างดี รักสงบ ชอบแสงแดด ไม่ชอบอากาศเย็น เชื่อฟังเจ้าของ มีความรักใคร่ เป็นมิตรต่อมนุษย์ ขี้อ้อน ขี้ประจบ ถ้ามันต้องการความสนใจจากเจ้าของ มันจะร้องเรียกด้วยเสียงเบาๆ ด้วยเสียงที่เป็นลักษณะพิเศษ
การดูแล
เนื่องจากมันไม่มีขนที่จะคอยปกป้องผิวหนัง ผิวหนังของมันจึงผลิตน้ำมันออกมาเคลือบ มันจึงต้องการการอาบน้ำและดูแลอย่างเหมาะสมเพื่อให้ผิวหนังของมันมีสุขภาพดี ควรอาบน้ำหรือเช็ดตัวให้อาทิตย์ละ 1 ครั้ง ถ้าไม่ดูแลผิวหนังของมันจะเป็นขุยแห้ง ๆ นอกจากนี้ ควรตัดเล็บให้มันเป็นประจำทุกอาทิตย์ เพื่อป้องกันผิวหนังเป็นรอยจากการเกา เมื่อพามันออกไปเดินเล่นตากแดด ควรทาครีมกันแดดเด็กให้มันด้วย เพื่อปกป้องผิวหนังจากแสงแดด
ควรระวัง อย่าให้มันโดนยุงกัด หรือโดนขีดข่วน เนื่องจากอาจทำให้ผิวหนังเกิดบาดแผลได้ เมื่อออกข้างนอกควรสวมเสื้อแมวให้มัน และอย่าลืมพาไปทำวัคซีนป้องกันโรคหัดแมว โรคลูคีเมียร์ โรคพิษสุนัขบ้า ตามกำหนดอย่างเคร่งครัด
ข้อดี
เป็นแมวที่เหมาะสำหรับคนเป็นโรคภูมิแพ้ เนื่องจากไม่มีขน อันเป็นตัวกลางในการนำพาน้ำลายซึ่งเป็นพาหะก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ในมนุษย์นั่นเอง